ชาวไร่ประเมินปริมาณอ้อยเข้าหีบปี 64/65 ล่าสุดส่อไม่ถึง 90 ล้านตัน

ชาวไร่อ้อยประเมินอ้อยเข้าหีบฤดูผลิตปี 2564/65 อาจไปไม่ถึงเป้าหมายที่มองไว้ระดับ 90 ล้านตัน คาดอยู่ที่ราว 85 ล้านตันโดยยังต้องเกาะติดใกล้ชิด ชี้ รง.ประกันราคาอ้อย 3 ฤดูผลิตที่ 1,200 บาท (ความหวาน 12.63 ซีซีเอส) เป็นสิ่งที่ดีแต่ต้นทุนพุ่งสูงยังเป็นปัจจัยกดดันหนัก

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ที่ปรึกษาชาวไร่อ้อย เปิดเผยว่า หลังจากที่โรงงานน้ำตาลในประเทศ 57 แห่งได้ทยอยเปิดหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 2564/65 ตั้งแต่ 7 ธ.ค. 64 ถึงปัจจุบันที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบกว่า 51 ล้านตัน โดยเบื้องต้นมีแนวโน้มว่าผลผลิตอ้อยเมื่อสิ้นฤดูหีบอาจจะไม่ถึงระดับ 90 ล้านตันตามที่เคยประเมินไว้ โดยคาดว่าจะอยู่ระดับ 85 ล้านตันเนื่องจากอ้อยเข้าหีบเฉลี่ยต่อวันเริ่มลดลงมากโดยต้องติดตามใกล้ชิดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตอ้อยที่เหมาะสมสำหรับโรงงาน 57 แห่งควรจะมีอย่างน้อย 100 ล้านตัน ดังนั้นโรงงานจึงได้เสนอระบบประกันราคาอ้อยสดปี 2565/66-2567/68 ในราคา 1,200 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวาน 12.63 ซีซีเอส (เฉลี่ย 3 ปี)

“การประกันราคาดังกล่าวหากคิดที่ 10 ซีซีเอสก็จะเฉลี่ยที่ 1,040 บาทต่อตันก็ขยับสูงจากฤดูการผลิตปีก่อนที่ประกันไว้ที่ตันละ 1,000 บาทที่ 10 ซีซีเอส เพื่อทำให้ชาวไร่มั่นใจที่จะเพาะปลูกมากขึ้นเพราะไม่ว่าราคาน้ำตาลตลาดโลกจะผันผวนแต่ระบบก็จะประกันราคาดังกล่าวไว้ แต่หากเทียบกับต้นทุนของชาวไร่อ้อยที่เพิ่มขึ้นแล้วราคาดังกล่าวก็ไม่ได้ถือว่าสูงมาก” นายวีระศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ หากราคาอ้อยผันผวนจะมีผลทำให้ชาวไร่อ้อยย้ายไปปลูกพืชอื่นที่มั่นคงกว่าการประกันราคา ถือเป็นเรื่องดีแต่ผลผลิตจะสูงขึ้นมากน้อยเพียงใดยังมีปัจจัยอื่นๆ ด้วยโดยเฉพาะราคาพืชชนิดอื่นๆ ว่าเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าราคาอ้อยสูงขึ้นแต่เมื่อพิจารณาถึงต้นทุนการเพาะปลูกนั้นพบว่าสูงมากโดยเฉพาะราคาปุ๋ยขึ้นไปแล้ว 100% นอกจากนี้เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวที่รัฐกำหนดตัดอ้อยสดก็เป็นภาระในเรื่องของต้นทุนค่าแรงที่เพิ่ม และปริมาณรถตัดอ้อยที่มีกว่า 2,500 คันก็มีไม่เพียงพอและศักยภาพในการตัดก็ยังต่ำเพราะพื้นที่ของเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นแปลงเล็ก ประกอบกับฤดูเก็บเกี่ยวของไทยมีเพียง 3 เดือนเท่านั้น และปีนี้ยังพบว่าฝนมาค่อนข้างเร็วในบางพื้นที่

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business