กางสถิติ SET Index ใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะฟื้นจากวิกฤต

ตลาดหลักทรัพย์ ฯ แกะรอยดัชนีหุ้นไทย SET Index ในช่วงเวลาวิกฤต ลงไปถึงจุดใด และกว่าจะฟื้นจากวิกฤตได้ ใช้เวลานานแค่ไหน โดยยก 3 กรณีวิกฤตครั้งใหญ่ วิกฤตต้มยำกุ้ง ,วิกฤต Subprime และ วิกฤตโควิด

ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้น ตลาดหุ้นมักตอบรับในเชิงลบ แต่ระยะเวลาและผลกระทบเชิงบวกจะช่วยบรรเทาให้ดัชนีกลับสู่จุดเดิม แต่จะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน บทความนี้จะพามาแกะรอยดัชนีหุ้นไทย SET Index ในช่วงเวลาวิกฤต ว่าลงไปถึงจุดใด และกว่าจะฟื้นจากวิกฤตได้ ใช้เวลานานแค่ไหน โดยขอยกตัวอย่าง 3 วิกฤตครั้งใหญ่

 

วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540

 

วิกฤตแรกที่จะพาไปย้อนรอย คือ วิกฤตต้มยำกุ้ง เป็นช่วงที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจและการลงทุนตอนก่อนที่จะเกิดวิกฤตดูจะค่อนข้างหอมหวาน ไม่ว่าจะเป็น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่สูงถึง 10% ขึ้นไป การปล่อยกู้ของธนาคารในไทยที่ง่ายดาย เนื่องจากธนาคารเห็นโอกาส 3 อย่าง คือ

 

ประเทศไทยใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่
GDP ในประเทศที่เติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดอกเบี้ยกู้ที่ธนาคารกู้จากธนาคารต่างประเทศถูกกว่ากันมาก

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เวลานั้นคนนิยมกู้เงินเพื่อนำไปเก็งกำไรทั้งในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น แต่เมื่อยิ่งมีการเก็งกำไรมาก ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดังกล่าวก็ยิ่งลดลง และในเวลาต่อมา ก็เกิดหนี้เสียมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับต่างชาติเห็นช่องว่างจากนโยบายการเงินในตอนนั้น จึงเริ่มมีการโจมตีค่าเงินบาทหนักขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งในปี 2540 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนนโยบายจากอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เป็นแบบลอยตัว

เมื่อลองมาย้อนดูเวลาช่วงนั้นจากกราฟด้านล่าง พบว่าในช่วงก่อนที่จะเกิดต้มยำกุ้ง ดัชนี SET Index ได้ทำจุดสูงสุดนับตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อตั้ง ซึ่งทำไว้อยู่ที่ 1,789.16 จุด ในเดือนมกราคม 2537 หลังจากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2540 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจากคงที่เป็นอัตราลอยตัว ส่งผลให้ SET Index จากที่ทำจุดสูงสุดในเดือนดังกล่าวที่ 696.22 จุด ดัชนีได้ลงแรงมาถึง 204.59 จุด ในเดือนกันยายน 2541

กว่าจะกลับไปถึงจุดสูงสุดเดิมก่อนเกิดวิกฤตได้นั้น ต้องรอจนถึงเดือนมกราคม 2561 ถือว่าวิกฤตครั้งนี้ ใช้เวลาถึง 24 ปีกันเลยทีเดียวกว่าที่ตลาดจะกลับมาอยู่ระดับเดิม

 

วิกฤต Subprime

 

วิกฤตต่อมาที่อาจไม่ได้กระทบหนักในไทยเท่ากับวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ก็เล่นเอาตลาดหุ้นเหนื่อยอยู่เหมือนกัน นั่นคือ วิกฤต Subprime เป็นช่วงที่เกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา สาเหตุเกิดจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้กู้เงินและถูกยึดอสังหาริมทรัพย์ โดยเริ่มส่งสัญญาญอย่างชัดเจนขึ้นเมื่อปี 2550

 

ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤต Subprime ดัชนีหุ้นไทย SET Index ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 924.70 จุด ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2550 จากนั้นถึงได้ร่วงลงอย่างหนัก กระทั่งกลับมาจุดเดิมในเดือนกันยายน ปี 2553 ซึ่งใช้เวลา 2 ปีกับอีก 10 เดือน ถือว่าสั้นกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งพอสมควร

วิกฤติ COVID-19

 

และวิกฤตล่าสุดที่เกิดขึ้นมาเกือบ 2 ปีแล้ว และยังส่งผลกระทบในช่วงปัจจุบัน นั่นคือวิกฤต COVID-19 ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศจีนเมื่อเดือนธันวาคมปี 2562 ส่งผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากในบางประเทศมีการ Lockdown เพื่อป้องกันการติดเชื้อของประชากรในประเทศ

 

กลับมาดูที่ตลาดหุ้นบ้านเรา SET Index ณ ช่วงที่เจอ COVID-19 ครั้งแรกในประเทศจีน ดัชนีดังกล่าวได้ทำจุดสูงสุดในช่วงนั้นที่ 1589.34 จุด และลงมาต่ำสุดที่ 969.08 จุดในเดือนมีนาคม 2563 จากนั้น กลับมาถึงจุดสูงสุดเดิมที่ทำไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ในเดือนมีนาคม 2564 โดยใช้เวลา 1 ปี กับอีก 3 เดือน

 

แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า COVID-19 จะยังไม่หายไปง่ายๆ ต้องติดตามต่อไปว่าจะส่งผลให้เกิดวิกฤตอะไรในอนาคตข้างหน้าในระยะสั้น กลาง และยาว

จะเห็นว่าถึงแม้ตลาดหุ้นไทยจะลงหนักขนาดไหน สุดท้ายแล้วก็ยังสามารถกลับมาจุดเดิมได้ โดยใช้ระยะเวลาและผลกระทบเชิงบวกเข้ามา ซึ่งวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อาจเป็นจังหวะและโอกาสในการลงทุนหุ้นไทยหลาย ๆ ตัว ที่มีพื้นฐานที่ดีและราคาถูกก็เป็นได้

 

หากนักลงทุนต้องการค้นหาหุ้นเด่น โอกาสเติบโตดี ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถหาหุ้นที่น่าสนใจจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์คุณภาพ คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

อ้างอิงที่มา : SET

อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/money_market