คลังลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเหลือศูนย์ เฉพาะการนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาไปผลิตไฟฟ้า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการทางภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับการนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาไปผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้า บรรเทาภาระค่าครองชีพให้ประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์ สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า มีระยะเวลา 6 เดือน เริ่มมีผลหลังจากวันที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 15 ก.ย.65 แนวทางการลดภาษีสรรพสามิตดังกล่าวจะเป็นการช่วยตรึงค่าไฟฟ้า ส่วนจะอยู่ในรอบบิลเดือนใดขึ้นอยู่กับคณะกรรมการคำนวณค่าไฟฟ้าจะต้องพิจารณาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง อาจจะขึ้นค่าไฟไม่มากหรือไม่ขึ้นราคาเลย เนื่องจากก่อนหน้านี้ ได้มีการคาดการณ์ค่าไฟในช่วง 4 เดือนข้างหน้าแล้ว

ส่วนสถานะกองทุนน้ำมันที่ได้อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม กองทุนน้ำมันได้ขออนุมัติกู้เงิน 30,000 ล้านบาท คาดว่าจะขอกู้เพิ่มในกรอบถึง 40,000 ล้านบาท เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะพยุงราคา

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยกว่าร้อยละ 60 ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ (NG) ซึ่งราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้น้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ ในปัจจุบันน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามีภาระภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 3.44 บาทต่อลิตร และ 0.64 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต เห็นควรใช้มาตรการทางภาษีมาช่วยลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโควิด-19

การจัดเก็บรายได้ หลังจากกระทรวงการคลัง ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาท ทำให้รายได้หายไป 17,000 ล้าน แต่ช่วยทำให้ต้นทุนค่าขนส่งลดลง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกำหนดราคาสินค้าในตลาด ซึ่งการจัดเก็บรายได้ที่หายไปเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะช่วยลดต้นทุน และต้องพิจารณาว่าการจัดเก็บปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ในเบื้องต้น การจัดเก็บของกรมสรรพากรจัดเก็บได้เกินเป้าหมาย อาจจะดูการจัดเก็บในเดือนมี.ค.65 เนื่องจากจะมีรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเข้ามาเพิ่ม

สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น นายอาคม กล่าวว่า ในเบื้องต้น กระทรวงการคลัง หารือร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อประเมินภาพรวมเศรษฐกิจและต้องดูเรื่องการท่องเที่ยวด้วย คิดว่าอัตราการเจริญเติบโตน่าจะอยู่ในกรอบที่ได้ประเมินไว้ ที่ร้อยละ 3.5-4.5 กระทรวงการคลังอยากให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 4

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket